วิสัยทัศน์

“โรงเรียนหนองหญ้าปล้องโนนคูณวิทยามีคุณภาพมาตรฐานการศึกษา พัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

พันธกิจ

1. พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง 2560) อย่างเพียงพอในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

2. พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และค่านิยมหลักของคนไทย

3. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่สามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

4. พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้เทียบเคียงมาตรฐานสากลบนแนวคิดตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง

5. พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและ

เป็นพลโลก พัฒนา สนับสนุนระบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

6. พัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษา ระบบการเรียนและการจัดการเรียนรู้ โดยใช้หลักธรรมาภิบาล

เป้าประสงค์

1. ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข มีความรู้ ความสามารถตามมาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบ ต่อตนเองและสังคม บนพื้นฐานความเป็นไทย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การดำรงชีวิต

2. หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เทียบเคียงมาตรฐานสากล

3. ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และมีศักยภาพเป็นพลโลก

4. ครูและบุคลากรมีความรู้ความสามารถ ทักษะตามสมรรถนะและปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ

5. โรงเรียนมีการบริหารจัดการศึกษาอย่างมีระบบตามหลักธรรมาภิบาล

6. สถานศึกษามีระบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศที่ทันสมัย

7. ชุมชนมีส่วนร่วมเข้มแข็งในการจัดการศึกษา และภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

กลยุทธ์

1. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษา

2. พัฒนาระบบส่งเสริมสนับสนุนคุณภาพการจัดการศึกษา

3. พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการ

5. พัฒนาการสร้างเครือข่ายครู ผู้ปกครอง และชุมชน ตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

เอกลักษณ์

“ยิ้ม ไหว้ แต่งกายงาม”

อัตลักษณ์

“คุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง”

คำขวัญ

“สะอาด สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา กีฬาดี มีคุณธรรม”


แนวทางการบริหารการจัดการโรงเรียนสู่คุณภาพ

จากภารกิจหลักที่สำคัญของโรงเรียนหนองหญ้าปล้องโนนคูณวิทยา คือ การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะ ดังที่กำหนดเอาไว้ในหลักสูตรของแต่ละดับ สามารถสนองตอบความต้องการของสังคม ประเทศชาติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งให้สถานศึกษาจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ข้าพเจ้าจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนหนองหญ้าปล้องโนนคูณวิทยาดังนี้

1. การบริหารงานโรงเรียนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

การบริหารและการจัดการศึกษาภายในโรงเรียน จะต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้การบริการประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมได้มีความพึงพอใจในการบริการ ภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และสอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 เพื่อทุกกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการถือปฏิบัติ

ด้วยเหตุผลนี้ โรงเรียนหนองหญ้าปล้องโนนคูณวิทยาโดยการนำของ ข้าพเจ้า จะต้องมีการบริหารและจัดการ ศึกษาของโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการ การศึกษาแก่ประชาชนและเป็นสถานศึกษาของรัฐ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลจึงนำหลักการว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลักธรรมมาภิบาล”(Good Governance) มาบูรณาการในการบริหารและจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนในฐานะที่เป็นนิติบุคคลด้วย ซึ่งหลักการสำคัญ 6 ประการ คือ

1) หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อนักเรียนและประชาชนเป็นสำคัญ

2) หลักคุณธรรม (Morality) ยึดมั่นในความถูกต้องดีงามในการปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่างแก่สังคม มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย และประกอบอาชีพที่สุจริต

3) หลักความโปร่งใส (Accountability) การทำงานต้องยึดหลักโปร่งใสเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการปรับปรุงกลไกในการทำงานร่วมกันให้สามารถตรวจสอบ มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก

4) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาและเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญการบริหารและจัดการศึกษา

5) หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) มีความตระหนักในสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น สำนึกและรับผิดชอบในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาใส่ใจและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตนเองตามบทบาท และหน้าที่ของสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

6) หลักความคุ้มค่า (Cost-effectiveness or Economy) มีการบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชน และประชาชนที่สถานศึกษารับผิดชอบ

ดังนั้น โรงเรียนต้องนำหลักธรรมาภิบาลมาบูรณาการเข้ากับการดำเนินด้านต่างๆ ของโรงเรียน เช่น ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบริหารงานบุคคล และด้านบริหารงานทั่วไป และเป้าหมายในการจัดการศึกษา คือ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข

2. การบริหารงานโรงเรียนตามระบบคุณภาพ หรือวงจร PDCA

ข้าพเจ้า จะได้ดำเนินการบริหารและการจัดการ ด้วยความรู้ ความสามารถ มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารการศึกษา และมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งมีความตระหนักและเข้าใจในเนื้อหาสาระของการศึกษา มุ่งมั่นให้ภารกิจบรรลุจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างแท้จริง

สำหรับการบริหารงานภายในโรงเรียน จะได้กำหนดโครงสร้างการบริหาร งานออกเป็น 4 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริหารงานทั่วไป กลุ่มงานบริหารงานวิชาการ กลุ่มงานบริหารงานงบประมาณ และกลุ่มงานบริหารงานบุคคล โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน คือจัดการศึกษาของโรงเรียน ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ พัฒนานักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถทักษะ เพียงพอต่อการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณลักษะที่พึงประสงค์ มีสุขภาพที่แข็งแรง และสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

การบริหารงานของโรงเรียน ดำเนินงานโดยมีแนวคิด หลักการ นโยบาย การบริหาร โดยยึดหลักการบริหารคุณภาพ หรือเรียกว่า วงจรเดรมมิ่ง ( The Dremming Cycle) หรือ วงล้อ PDCA คือ วิธีการที่เป็นขั้นตอนในการทำงานเสร็จอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือวางใจได้ โดยใช้วงจร PDCA เป็นเครื่องมือการบริหารงานอย่างต่อเนื่องในการติดตาม ปรับปรุงพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย

3. การบริหารงานโดยยึดหลักการ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

กรณี ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาแห่งใหม่ ข้าพเจ้า

จะปรับปรุงการบริหารโรงเรียนให้ดียิ่งๆขึ้นไปโดยอาศัยแนวคิดและหลักการที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็นสังคม

แห่งการเรียนรู้ การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเปิดโอกาส และการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้มีความบกพร่องทั้งทางกาย และจิตใจ โดยการร่วมมือ ประสานกันของทุกภาคส่วน องค์กรภาครัฐ เอกชน เครือข่าย ผนึกกำลังบูรณาการ โดยยึดหลักการบริหาร “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา และร่วมรับผิดชอบ” เพื่อให้การพัฒนาองค์กรเป็นไปให้ทางที่ดีขึ้นและยั่งยืน จะใช้ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน จนก่อให้เกิดผลดีทุกๆ ด้าน อาทิเช่น ด้านวิชาการ ด้านบริหารงานทั่วไป ด้านบริหารบุคคล ด้านงบประมาณ และด้านความสัมพันธ์กับชุมชน อีกทั้ง การปฏิบัติหน้าที่ ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ตามมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะ ดังนี้

1) การบริหารงานวิชาการ จัดทำและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา นิเทศ การวัดประเมินผล ส่งเสริมและจัดการศึกษาให้ กับผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษายกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน

2) การบริหารงบประมาณ จัดทำแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายของราชการ และชุมชน โดยเน้นความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณพัฒนาผู้เรียนเป็นอันดับแรก และมีการวางแผนระดมทุนทางสังคมจากทุกภาคส่วน เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือ หลักธรรมาภิบาล ทั้งระบบการจัดซื้อ จัดจ้าง การเงิน การบัญชี พัสดุและครุภัณฑ์ ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ โปร่งใส ตรวจสอบได้

3) การบริหารงานบุคคล มีการวางแผนการจัดบริหารงานบุคคล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยจัดทำมาตรฐานภาระงานของบุคลากรให้ชัดเจน มีการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

4) การบริหารงานทั่วไป บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายและวัตถุประสงค์เป้าหมายของสถานศึกษา จัดระบบควบคุมภายในสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ จัดให้มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการประสานงานภาคเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่นในการระดมทุนทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และให้บริการทางวิชาการ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สถานที่แก่ชุมชน และมีการจัดทำรายงานผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่อชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง

5) งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรของหน่วย งานต้นสังกัด เป็นผู้นำขององค์กร และเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร ต้องทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งได้รับมอบ หมายให้เป็นคณะกรรมการ/คณะทำงาน ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชนและสังคม ให้การยอมรับทั้งภายในและภายนอก

4. การบริหารตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา จะดำเนินการ 3 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ได้กำหนดในวิสัยทัศน์และ พันธกิจของโรงเรียน และมอบหมายให้ครูจัดทำแผนงานโครงการตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกแผนงาน/โครงการ ที่เน้นหลักของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีความยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ในงานนั้นๆ และต้องไม่ขัดแย้งและส่งเสริมหลักของคุณธรรม ได้กำชับให้ครูบูรณาการหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกวิชา โดยเฉพาะรายวิชาที่มีการมอบหมายชิ้นงาน ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องการวางแผนเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่คุ้มค่า ตลอดจนให้สอดแทรกแนวคิดตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างสม่ำเสมอ และด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้เน้นย้ำให้ครูและนักเรียนวางแผนการดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกๆกิจกรรมทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและนอกหลักสูตร

5. การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน

การเตรียมสถานศึกษาให้พร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สถานศึกษาจะต้องผลิตผู้เรียนให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ดังนี้

5.1 เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้

5.2 ใช้การบูรณาการ

5.3 ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม

5.4 ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด แก้ปัญหาสร้างความตระหนัก สื่อสาร

5.5 เลือกใช้วิธีสอนและเทคนิคการสอน สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลหลากหลายตามสภาพจริง

5.6 ส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดีในประชาคมอาเซียน

6. “บริหารแบบใหม่ ใส่ใจในศักยภาพผู้เรียน เพียรพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา พาสู่ความเป็นสากล”

การบริหารจัดการศึกษาที่ดี ผู้บริหารต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆตลอดเวลาทั้งแนวนโยบายของรัฐ หลักการบริหารจากองค์กรภายนอก และบริบทของสถานศึกษา นำมาบูรณาการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในการบริหารสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการอำนวยการให้เกิดการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข

จากประสบการณ์การบริหารโรงเรียนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการบริหารสถานศึกษาดังกล่าวข้างต้น โดยมีหลักการสำคัญที่ใช้ดังนี้

1) การตัดสินใจที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Decision) เป็นแนวคิดที่มุ่งให้

โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ

2) การมีส่วนร่วม (Participation) กำหนดให้บุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมแสดงความคิดเห็นหรือร่วมกำกับติดตาม ดูแล

3) การกระจายอำนาจ (Decentralization) เป็นการกระจายอำนาจด้านการบริหาร

จัดการด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารบุคคลและการบริหารทั่วไป ให้คณะกรรมการบริการสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ

4) ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) มีการกำหนดหน้าที่

ความรับผิดชอบและภารกิจของผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้น

5) ธรรมมาภิบาล (Good Governance) เป็นหลักคิดสำหรับการบริหารจัดการที่ดี เพื่อ

ประกันว่าในองค์การจะไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยึดหลักเป้าหมายสอดคล้องต่อสังคม กระบวนการโปร่งใสและทุกขั้นตอนมีผู้รับผิดชอบ

6) ความเป็นนิติบุคคล (A juristic person) เป็นการให้สิทธิและอำนาจหน้าที่ที่กำหนด

ไว้เป็นของตนเอง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการระทรวงศึกษาธิการพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ที่เป็นของโรงเรียนไว้โดยเฉพาะ

จากภารกิจหลักที่สำคัญของโรงเรียน คือ การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนให้เป็นผู้ที่มี

คุณลักษณะดังที่กำหนดเอาไว้ในหลักสูตรของแต่ละดับ สามารถสนองตอบความต้องการของสังคม ประเทศชาติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งให้สถานศึกษาจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข